18 มกราคม 2557

ข่าว วันที่ 16 มกราคม 2557

อุกกาบาตรัสเซีย จากต้นจนจบ    16 มกราคม 2557 
  นักวิทยาศาสตร์ได้ประติดประต่อความเป็นมาของหินอวกาศที่ชนกับชั้นบรรยากาศโลกเหนือเมือง Chelyabinsk ในรัสเซียเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์
  

  สร้างเป็นลูกไฟที่สว่างเจิดจ้ากว่าดวงอาทิตย์ช่วงเช้าตรู่ มันระเบิดอย่างรุนแรงเหนือขึ้นไป 30 ถึง 45 กิโลเมตร จากนั้นอีก 88 วินาทีคลื่นกระแทกก็ทำให้ประชาชน 1200 คนได้รับบาดเจ็บ และกระจกหน้าต่างในตึกเกือบครึ่งเดียวต้องแตกละเอียด


เกิดความแตกตื่นแต่ก็เงียบอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์บอกว่าโชคดีที่การระเบิดเกิดขึ้นเหนือใจกลางเมือง ผู้คนในเมืองได้จับภาพเหตุการณ์ได้จากกล้องวีดีโอที่ติดตั้งบนอาคารและกล้องภายในรถยนต์ ทั้งหมดนี้รวมกับดาวเทียมป้องกันตัวเองที่มองหายังโลกและเครือข่ายอินฟราซาวด์ทั่วโลกที่ดูแลโดย องค์กรสนธิสัญญาต่อต้านการทดสอบนิวเคลียร์(CTBTO) ได้ช่วยให้นักวิจัยได้ชำแหละเหตุการณ์ด้วยความแม่นยำที่สูงมาก ซึ่งจะให้โอกาสอันเป็นอัตลักษณ์แก่นักวิจัยเพื่อจำแนกเหตุการณ์ เพื่อใช้ในการศึกษาวัตถุใกล้โลกและการพัฒนากลยุทธในการป้องกันตัวจากวัตถุนอกโลก นำเสนอเป็นรายงานการค้นพบเผยแพร่สองฉบับใน Nature และฉบับที่สามใน Science บ่งบอกว่ามันมีความเป็นมาที่ยาวนานและซับซ้อนซ่อนเงื่อนซึ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ระบบสุริยะก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ 4.56 พันล้านปีก่อน


Peter Jenniskens จากศูนย์วิจัยเอมส์ ของนาซา กล่าว เป้าหมายของเราก็คือเพื่อเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดที่เป็นผลในคลื่นกระแทก เขาร่วมทีมลงพื้นที่ที่นำโดย Olga Popova จากสำนักวิทยาศาสตร์รัสเซีย ในมอสโคว ในไม่กี่สัปดาห์หลังจากเหตุการณ์ มันสำคัญที่เราได้ตามติดกับประชาชนหลายคนที่เป็นประจักษ์พยานเหตุการณ์และบันทึกวีดีโอที่น่าทึ่งนี้ไว้ Popova กล่าว ทั้งคู่ได้คำนวณความเร็วการชนได้ที่ 68400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่ออุกกาบาตพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศ มันแตกออกเป็นชิ้น เนื่องจากความร้อนจัด ชิ้นส่วนของอุกกาบาตหลายชิ้นจึงระเหยไป นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีอุกกาบาตประมาณ 4 ถึง 6 พันกิโลกรัมตกลงบนพื้น ซึ่งรวมถึงชิ้นหนึ่งที่มีน้ำหนัก 650 กิโลกรัม นักดำน้ำอาชีพที่ได้รับการแนะนำจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยกลางอูรัล ใน เยคาเทอรินเบิร์ก รัสเซีย ได้พบชิ้นส่วนนี้จาก เลค เชบาคุล ในวันที่ 16 ตุลาคม


นักวิจัยได้ประติดประต่อพลังงานการชนซึ่งวัดเป็นพลังงานจน์เทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นที ทีมวิจัยที่นำโดย Peter Brown จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออนทาริโอ บอกว่าเพียงแค่การเปล่งคลื่นช่วงตาเห็นอย่างเดียวก็เทียบเท่าการระเบิดของทีเอ็นทีอย่างน้อย 4.7 แสนตัน แต่เซนเซอร์บนดาวเทียมทางการทหารบอกว่า 5.3 แสนตัน สุดท้าย บันทึกจากเครือข่ายอินฟราซาวด์ของ CTBTO บอกว่าสูงกว่านั้นที่ 6 แสนตัน ซึ่งแม้จะยังไม่แน่ชัด แต่การระเบิด Chelyabinsk ก็เป็นการชนที่รุนแรงที่สุดบนโลกตั้งแต่การระเบิดเหนือทุ่งทังกัสก้าในไซบีเรียเมื่อปี 1908


หยดหลอมเหลวขนาดเล็ก(molten droplets) ที่หาทางเข้าไปอยู่ในวัตถุ Chelyabinsk ก่อตัวขึ้นภายในช่วง 4 ล้านปีแรกของประวัติความเป็นมาของระบบสุริยะ David Kring จากสถาบันดวงจันทร์และดาวเคราะห์ ในฮุสตัน กล่าว ที่การประชุมประจำปีสหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกัน วันที่ 9 ธันวาคม ในอีก 10 ล้านปีถัดมา ชิ้นส่วนขนาดจิ๋วเหล่านี้พร้อมทั้งการช่วยเหลืออย่างเอื้อเฟื้อของฝุ่น ได้เกาะกลุ่มกันเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งที่มีขนาดถึง 100 กิโลเมตร เนื้อสัมผัสที่พบภายในชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อย Chelyabinsk ที่เก็บได้จากบนโลกเผยให้เห็นว่าหินนั้นครั้งหนึ่งน่าจะถูกฝังอยู่ลึกหลายกิโลเมตรใต้พื้นผิวของวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่าวัตถุแม่ แอล แอล คอนไดรต์(LL chondrite parent body) Kring กล่าวเสริม


ยิ่งกว่านั้น การวิเคราะห์ริ้วการกระแทก(shock veins) ภายในอุกกาบาต Chelyabinsk บ่งชี้ว่าวัตถุแม่ต้องเจอการชนครั้งใหญ่เมื่อประมาณ 120 ล้านปีหลังจากระบบสุริยะเริ่มก่อตัวขึ้น และยังมีการชนตามๆ มา โดยวัตถุแม่ได้ดูดซับการกระแทกครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่าง 4.3 ถึง 3.8 พันล้านปีก่อน Kring กล่าว(โลกและดาวเคราะห์อื่นในระบบสุริยะส่วนในก็ถูกระดมยิงในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เช่นกัน ซึ่งเรียกกันว่า การระดมยิงอย่างหนักครั้งล่าสุด-late heavy bombardment)


จากนั้นดูเหมือนวัตถุแม่ แอล แอล คอนไดรต์ จะได้หยุดหายใจและถูกทิ้งไว้ลำพังเพื่อรักษาบาดแผลของมันอีกไม่กี่พันล้านปี แต่ชิ้นส่วนอุกกาบาตได้บันทึกหลักฐานของการชนครั้งใหญ่อีก 2 ครั้งในช่วง 5 ร้อยล้านปีหลังนี้ โดยหนึ่งในนั้นเกิดขึ้นเมื่อระหว่าง 30 ถึง 25 ล้านปีก่อน


เหตุการณ์ครั้งใหญ่ครั้งต่อไปสำหรับวัตถุแม่ก็ได้สร้างผลให้กับผู้คนบนโลกด้วยเช่นกัน Kring กล่าวว่า จากนั้นอุกกาบาตก็เข้าไปอยู่ในกำทอนแรงโน้มถ่วงภายในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก และนั้นก็ส่งผลต่อวงโคจรของมัน ดังนั้น ณ จุดดังกล่าว มันย้ายตัวจากการเป็นดาวเคราะห์น้อยในแถบหลัก กลายเป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก


งานศึกษานี้เผยแพร่เมื่อไม่กี่เดือนก่อนบ่งชี้ว่าอุกกาบาต Chelyabinsk เพิ่งได้เปิดอาบรังสีในห้วงอวกาศเมื่อ 1.2 ล้านปีนี้เอง ซึ่งบอกว่ายังมีการชนเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นอีก Kring กล่าวเสริม การชนนี้บางทีอาจจะสรุปขนาดสุดท้ายของหินอวกาศซึ่งน่าจะมีความกว้างประมาณ 20 เมตรเมื่อมันเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และสุดท้าย แน่นอนว่า ก็มีการชนอีกครั้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013 Kring กล่าว


ในขณะที่ดาวเคราะห์น้อย Chelyabinsk พบกับจุดจบในวันดังกล่าว ชิ้นส่วนอื่นๆ ของ แอล แอล คอนไดรต์ก็ยังคงปรากฎอยู่ในห้วงอวกาศ ชิ้นส่วนหนึ่งนั้น เป็นดาวเคราะห์น้อยอิโตคาวา(Itokawa) กว้าง 540 เมตร ซึ่งยาน ฮายาบูสะ(Hayabusa) ของญี่ปุ่นได้ไปเยี่ยมเยือนในปี 2005 รวบรวมตัวอย่างซึ่งส่งกลับมายังโลกในอีกห้าปีต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น