16 มกราคม 2557

ข่าว วันที่ 13 มกราคม 2557

ดาวแคระน้ำตาลเพื่อนบ้านอาจมีดาวเคราะห์ 13 มกราคม 2557 นักดาราศาสตร์ได้พบสัญญาณของสิ่งที่อาจเป็นดาวเคราะห์นอกระบบดวงหนึ่งในระบบดาวฤกษ์แท้งคู่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ ถ้ายืนยัน พิภพต่างด้าวแห่งนี้น่าจะเป็นหนึ่งในพิภพที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่เคยพบมา
 Luhman 16AB 


  นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบระบบคู่ดาวฤกษ์แท้งหรือที่เรียกว่าดาวแคระน้ำตาลคู่นี้ เมื่อปี 2012 ด้วยระยะห่างเพียง 6.6 ปีแสงจากโลก คู่นี้เป็นระบบที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเป็นอันดับสาม จริงๆ แล้วมันอยู่ใกล้มากจนสัญญาณโทรทัศน์จากปี 2006 อาจจะเดินทางไปถึงที่นั้นแล้ว Kevin Luhman จาก ศูนย์ดาวเคราะห์นอกระบบและพิภพที่เอื้ออาศัยได้ มหาวิทยาลัยเพนน์สเตท บอกเมื่อประกาศการค้นพบในเดือนมิถุนายน


ระบบดาวแคระน้ำตาลซึ่งมีชื่อว่า Luhman 16AB และเพิ่งได้ชื่อทางการว่า WISE J104915.57-531906 นั้นอยู่ห่างไกลกว่าดาวของบาร์นาร์ด(Barnard’s star ; ดาวแคระแดงดวงหนึ่งซึ่งอยู่ห่างออกไป 6 ปีแสง ถูกพบในปี 1916) ไปเล็กน้อย ที่ใกล้กว่านั้นก็คือ อัลฟา เซนทอไร(Alpha Centauri) ซึ่งดาวหลักสองดวงก่อตัวเป็นระบบคู่อยู่ห่างออกไป 4.4 ปีแสง พบว่าดาวเคราะห์ต่างด้าว Alpha Centauri Bb โคจรรอบหนึ่งในดาวฤกษ์ในระบบอัลฟา เซนทอไร และขณะนี้ก็ยึดครองตำแหน่งดาวเคราะห์นอกระบบที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะของเรามากที่สุด


ดาวแคระน้ำตาลถูกพบในข้อมูลจากดาวเทียม Wide-field Infrared Survey Explorer(WISE) ของนาซา ซึ่งถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อย, ดาวฤกษ์และกาแลคซี 1.8 ล้านภาพในระหว่างปฏิบัติการ 13 เดือนเพื่อสแกนทั่วทั้งท้องฟ้า ดาวแคระน้ำตาลนั้นบางครั้งก็ถูกเรียกว่าดาวฤกษ์แท้ง(failed star) เนื่องจากพวกมันมีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์ แต่ก็ยังไม่ใหญ่มากพอที่จะเริ่มปฏิกริยาหลอมนิวเคลียสที่แกนกลาง


Henri Boffin จากหอสังเกตการณ์ทางใต้ของยุโรป(ESO) นำทีมนักดาราศาสตร์ที่ต้องการจะเรียนรู้ให้มากขึ้นเกี่ยวกับเพื่อนบ้านสลัวรายใหม่นี้ กลุ่มได้ใช้เครื่องมือ FORS2 ที่ไวมากๆ บนกล้องโทรทรรศน์ใหญ่มาก(VLT) ในพารานัล ชิลี เพื่อทำการตรวจสอบ astrometry (เกี่ยวข้องกับการตามรอยการเคลื่อนที่ของดาวอย่างแม่นยำบนท้องฟ้า) ของวัตถุในระหว่างโครงการสำรวจทุกๆ 5 หรือ 6 วันเป็นเวลา 2 เดือนจากวันที่ 14 เมษายนถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2013


เราสามารถตรวจสอบตำแหน่งของวัตถุทั้งสองด้วยความแม่นยำในระดับไม่กี่มิลลิอาร์ควินาทีได้ Boffin กล่าวในแถลงการณ์ นั้นก็เหมือนกับคนที่อยู่ที่ปารีสสามารถตรวจสอบตำแหน่งของคนในนิวยอร์คในระดับ 10 เซนติเมตรได้ ทีมได้ค้นพบว่าดาวแคระน้ำตาลทั้งสองในระบบมีมวลที่ 30 ถึง 50 เท่ามวลดาวพฤหัส(เปรียบเทียบกับดวงอาทิตย์ที่มีมวลประมาณ 1000 เท่าดาวพฤหัส) เนื่องจากมวลที่ต่ำมากๆ พวกมันจึงใช้เวลา 20 ปีเพื่อโคจรครบรอบกันและกัน


ทีมของ Boffin ยังได้พบการรบกวนในวงโคจรวัตถุเหล่านี้เล็กน้อยในระหว่าง 2 เดือนที่ทำการสำรวจ พวกเขาเชื่อว่าเป็นเพราะแรงกระตุกของวัตถุที่สาม บางทีอาจจะเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่อยู่รอบหนึ่งในดาวแคระน้ำตาลทั้งสอง น่าจะอยู่เบื้องหลังความแปรผันเล็กน้อยนี้ ต้องมีการสำรวจต่อๆ ไปเพื่อยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์ Boffin กล่าวในแถลงการณ์ แต่มันอาจจะกลับตาลปัตรว่า ระบบคู่ดาวแคระน้ำตาลที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดอาจจะกลายเป็นระบบสามเส้า


โดยรวมแล้ว มีดาวเคราะห์นอกระบบเพียง 8 ดวงเท่านั้นที่ถูกค้นพบรอบดาวแคระน้ำตาล และพวกมันก็ถูกพบผ่านวิธีการเลนส์ความโน้มถ่วงจุลภาค(microlensing) และการถ่ายภาพโดยตรง ทีมยังบอกว่าดาวเคราะห์ที่อาจมีใน Luhman 16AB อาจจะเป็นดาวเคราะห์ต่างด้าวดวงแรกที่ถูกพบโดยวิธีการ astrometry ก็ได้ถ้าได้รับการยืนยัน งานวิจัยเผยแพร่เป็นจดหมายส่งบรรณาธิการ ใน Astronomy & Astrophysics

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น